โรเซ่

โรเซ่ ไวน์สีชมพูสวยที่หลายคนมักจะคิดว่าเป็นไวน์รองจากไวน์แดงและไวน์ขาว แต่หากไม่มีไวน์โรเซ่ ก็อาจไม่มีไวน์ชนิดอื่นๆ เลย! เพราะนอกจากจะเป็นรูปแบบไวน์ที่เก่าแก่ที่สุด ยังเป็นไวน์ที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกันสูงที่สุด วันนี้ไวน์แมนจึงอยากจะหยิบยกเอาทั้งชื่อเสียง และชื่อเสีย ของไวน์โรเซ่ มาเล่าสู่กันฟังกันนะ

1. โรเซ่ มาก่อนไวน์แดง ไวน์ขาวอีก

หากพูดถึงพื้นฐานของไวน์หลายๆ คนจะนึกถึงไวน์แดง ไวน์ขาว และค่อยตามด้วยโรเซ่ แต่ความจริงแล้วมีการคิดค้นไวน์โรเซ่ได้ก่อน! ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว โรเซ่ไวน์มีมาตั้งแต่ชั่วประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากเมื่อช่วงสมัยนั้นมนุษย์ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะแยกองุ่นขาวและองุ่นแดง การทำไวน์ก็จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างพื้นฐาน นั่นคือเก็บองุ่นขาวและแดง มาเหยียบเพื่อบดทำเป็นน้ำที่ผสมผสานระหว่างเนื้อและเปลือกองุ่น จากนั้นจึงนำไปหมักในโถดินเผาที่เรียกว่า pithoi ได้องุ่นสีชมพูอ่อนๆ ที่มี Tannin สูง และ off-dry รสฝาดและไม่หวาน เกิดก่อนมีการเรียนรู้การแยกสี หรือสายพันธุ์องุ่นนับพันปี

ซึ่งต่อมาในยุคกรีก เถาองุ่นและองค์ความรู้ด้านการทำไวน์ถูกส่งจากเมือง Phocaea สู่ฝรั่งเศสตอนใต้ เมือง Marseille แคว้น Provence ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มีการผลิตไวน์ในฝรั่งเศส สามารถผลิตไวน์โรเซ่สีชมพูอ่อน รสชาติเข้มข้น สดชื่น จนโด่งดังไปทั่วโลก จนปัจจุบัน Provence ได้เป็นดั่งศูนย์กลางแห่งไวน์โรเซ่ ที่มีการผลิตเยอะที่สุด แถมยังจัดว่าเป็นโรเซ่ที่มีคุณภาพเยี่ยมที่สุดอีกด้วย

2. ไวน์โรเซ่สมัยกรีกถึงโรมันเกิดขึ้นจากการเจือปนไวน์ด้วยน้ำเปล่า

อันนี้มีเรื่องราวความเป็นมาที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ต้องย้อนกลับไปเมื่อสมัยสปาต้า (400-500 BC) พระเจ้าลีออนิดัสที่ 1 ผู้ทรงเก่งกาจด้านการสู้รพเป็นที่สุด แต่สุดท้ายในบั้นปลายของชีวิต พระองค์กลับกลายเป็นคนบ้า เสียสติ และฆ่าตัวตายในคุกของตนเอง ผู้คนจึงกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของไวน์ (ซึ่งสมัยก่อนไวน์จะมีส่วนผสมของแอลกอฮอร์สูงกว่าสมัยนี้มาก) ฉะนั้นการดื่มไวน์ที่ไม่ได้เจือปนด้วยน้ำ จึงถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นการเจือไวน์ด้วยน้ำ ทำให้มีสีอ่อน สีโรเซ่ จึงกลายเป็นสิ่งที่นิยมทำ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง โดยนอกจากจะทำให้ไม่เมามาก ยังทำให้สามารถดื่มไวน์ได้ยาวนานตลอดทั้งคืนด้วย

3. มีวิธีทำโรเซ่ 3 วิธีหลักๆ

  • แช่องุ่นพร้อมเปลือก – นำน้ำองุ่นแช่ผสมรวมกับเปลือกและกากขององุ่นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วัน ก่อนที่จะแยกองุ่นและเปลือก และเข้าสู่ขั้นตอนการหมักไวน์ตามปกติ ทำให้สีจากเปลือกองุ่นออกเป็นเฉดสีชมพูอ่อน
  • Saignée – อ่านว่า San-yay แปลว่า ‘เลือดออก bleeding’ ซึ่งจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการกด หรือบดองุ่นหลังจากเก็บเกี่ยว บ่อยครั้งจะเป็นองุ่นขาวโดยจะผสมไวน์แดงลงไปเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้น้ำองุ่นที่ได้มีสีเข้มขึ้น เป็นวิธีที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์แดงอย่างเช่น Napa Valley และ Sonoma เป็นต้น
  • การดัดแปลงสี – เป็นวิธีที่หลังจากที่ได้ไวน์แดงออกมาเรียบร้อยแล้วใส่ถ่านลงไปในไวน์แดงเพื่อดูดสีและรสชาติบางส่วนของไวน์แดงจนกลายเป็นโรเซ่ โดยเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็จะไม่เป็นที่นิยม เพราะทำให้รสชาติไวน์อ่อนลง

4. เฉดสีของไวน์โรเซ่มีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์องุ่น

ไวน์โรเซ่มีความหลากหลายทางด้านสีสันของไวน์ที่สุด ขึ้นอยู่กับปริมาณองุ่น และสายพันธุ์ที่ใช้

ไวน์โรเซ่สไตล์ Provence เน้นองุ่น Grenache เบลนด์ด้วย Syrah และ Cabernet Sauvignon เพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะมีสีชมพูอ่อนที่สุดในบรรดาโรเซ่ในท้องตลาด เป็นสีแบบเบบี้พิงค์ แต่รสชาติฟรุ๊ตตี้ชัดเจน และมีโน้ตของสมุนไพร

เข้มขึ้นมาหน่อยก็จะเป็น Pinot noir และ Tempranillo หากเป็นไวน์โรเซ่ที่ผสม Sangiovese และ Cabernet Sauvignon จะมีสีชมพูอมส้ม หรือสีหลักจะเป็นสีชมพูและมีไฮไลท์เป็นสีส้มอ่อนๆ หากเป็นโรเซ่ที่ผสม Syrah หรือเป็นสไตล์ของ Rhône Valley และ Montepulciano จะเป็นโรเซ่ที่มีสีออกแดงชมพู ใกล้เคียงกับไวน์แดงมากๆ แต่รสชาติจะมีความเป็นโรเซ่ ที่ใช้ดื่มคู่กับเมนูเนื้อต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

5. ชื่อเสียงไวน์โรเซ่เริ่มเสียหายจากผู้ผลิตไวน์โปรตุเกส

ในปี 1943 ได้มีการนำไวน์โรเซ่จากโปรตุเกส 2 ยี่ห้อชื่อ Mateus และ Lancers เข้าสู่อเมริกา และกลายเป็นว่าประสบความสำเร็จสุดๆ ด้วยรสชาติหวานหอมสดชื่น ดื่มง่าย ผนวกกับขวดเซรามิคที่โดดเด่น และราคาที่ถูก ทำให้เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในหมู่คนอเมริกาและยุโรปตอนกลาง 

แต่ต่อมาเมื่อผู้บริโภคเริ่มสนใจในเรื่องของคุณภาพของไวน์มากขึ้น ยอดขายของโรเซ่ไวน์ก็เริ่มตกต่ำลง รวมไปถึงทำให้แบรนด์อื่นเกิดความเสียหายไปด้วย เพราะผู้บริโภคมองว่าโรเซ่ไวน์จะต้องราคาถูก มีรสหวาน ดื่มแล้วเมาเร็ว แฮ็งค์หนัก

6. ความนิยมไวน์โรเซ่พุ่งสูงติดลมบนในปี 2014 เพราะป๊อปเคาเจอร์

ในช่วงปี 1960-1990 ซึ่งเป็นยุคบูมของไวน์เกรดพรีเมี่ยม ทำให้ ไวน์โรเซ่ถูกมองว่าเป็นไวน์เกรดต่ำจนหลายคนไม่ได้มองโรเซ่ว่าอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับไวน์แดงและไวน์ขาวด้วยซ้ำ! แต่ในช่วงปี 2010 จนไปพีคสุดในปี 2014 – 2015 ไวน์โรเซ่กลับมาฮิตสุดๆ โดยเฉพาะในอเมริกาที่ยอดขายโรเซ่เพิ่มขึ้นถึง 29% จากปี 2013 สู่ปี 2014 โดยกล่าวว่าสาเหตุสำคัญเลยคือโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเหล่าดาราฮอลลีวู้ด ที่เริ่มหันมาดื่มโรเซ่ ทั้งแองเจลิน่า โจลี่, แพรด พิตต์ และอื่นๆ อีกมากมาย กลายเป็นเหมือนกับแฟชั่นของหญิงสาว ฐานะดี ถ่ายรูปคู่กับโรเซ่สีชมพูหรู 

นี่ทำให้โรเซ่ ถือว่าเป็นไวน์ที่ค่อนข้างจะสร้างความแตกแยกในวงการพอสมควร เพราะจะมีคนที่นิยมดื่มโรเซ่อย่างเดียวไปเลย แต่ก็ยังมีคนที่เป็นคอไวน์แบบฮาร์ดคอร์ ที่ส่ายหน้าให้ไวน์โรเซ่ หรือมองว่าความนิยมของโรเซ่เป็นเพียงความนิยมเพียงชั่วคราวเท่านั้น

rose wine

เห็นใสๆ อย่างนี้หนูก็มีค่า

ส่วนหนึ่งของความท้าทายในการผลิตไวน์โรเซคือการทำไวน์ให้ดื่มง่ายได้เรื่อยๆ ทุกวันในราคาที่เอื้อมถึงได้ตามท้องตลาด ทั้งนี้แม้จะดื่มง่ายและคุณอาจคิดว่าโรเซก็คือไวน์ขาวเวอร์ชันแบ๊วในชุดสีพาสเทล แต่หาได้แปลว่าราคาจะถูกราวกับไวน์พร้อมดื่มในร้านสะดวกซื้อเสมอไป ป้ายบนแท็กของไวน์โรเซบางประเภทอาจทำคุณตาโตด้วยราคาที่สูงตั้งแต่ 100 เหรียญสหรัฐ (3,000 กว่าบาท) ไปจนถึง 300 เหรียญ (ราวๆ 9,600 บาท) เลยทีเดียว ไม่ต่างกับไวน์แดง ไวน์ขาว หรือแชมเปญเลย เหตุเพราะกระบวนการทำที่หาได้แตกต่างหรือทำง่ายกว่าไวน์ชนิดอื่นๆ นั่นเอง

โรเซไม่ใช่แค่ไวน์ดื่มหน้าร้อน

ถูกต้องแล้ว เพราะบ้านเราหน้าไหนก็ร้อนเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราจึงดื่มโรเซได้ตลอดทั้งปี! เดี๋ยว…เปล่าเสียหน่อย แท้จริงแล้วโรเซเป็นไวน์ที่นิยมดื่มกันเป็นว่าเล่นในช่วงฤดูร้อนแถบยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ก็จริง แต่ข้อดีของการดื่มโรเซนอกฤดูนั้นคือราคาที่มักถูกลงเนื่องจากความต้องการที่ลดลง ทั้งเมื่อนำไปแช่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมราวๆ 7-13 องศาเซลเซียส น้ำสีชมพูชวนมองนั้นจะยิ่งอร่อยเหาะ และยังเหมาะกับการเปิดเน็ตฟลิกซ์ละเลียดหน้าทีวีวันฝนพรำ หรืออารมณ์ครึ้มๆ หลังเลิกงาน ไปจนแกล้มมื้อพิเศษชวนฉลองกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ หรือจะนำไปทำค็อกเทลเด็ดๆ ช่วงเทศกาลที่อากาศเย็นๆ ก็ดีงามไม่แพ้กัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก

https://wineman.asia

https://thestandard.co